ประวัติผู้แต่ง
มหาเวสสันดรชาดก
มีผู้นิยมแต่งมากมาย กัณฑ์ละหลายสำนวน
ในที่นี้จะกล่าวถึงผู้แต่งร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก เป็นตัวอย่าง ๔ กัณฑ์ จากทั้งหมด
๑๓ กัณฑ์
๑ สำนักวัดถนน - กัณฑ์ทานกัณฑ์
ด้วยเหตุที่ไม่มีหลักฐานแน่นอนว่าผู้แต่งเป็นใคร
ทราบเพียงแต่ว่าเป็นภิกษุที่อยู่วัดถนน
ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสีกุก
อันเป็นเขตติดต่อระหว่างจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดอ่างทองจึงใช้ชื่อผู้แต่งกัณฑ์ทานกัณฑ์ว่า
สำนักวัดถนน แทนชื่อผู้แต่ง
เรื่องผู้แต่งกัณฑ์ทานกัณฑ์นี้
นายทองคำ อ่อนทับทิม มรรคนายกวัดถนน กับนายเสงี่ยม คงตระกูล ได้สอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ในละแวกบ้านใกล้วัดถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งยายสมบูรณ์ สุปญสันธ์ อายุ ๙๐ ปีเศษ พอจะทราบเค้าประวัติของท่านผู้แต่งว่า
ชื่อ ทองอยู่ เกิดที่บ้านไผ่จำศีล อำเภอวิเศษไชยชาญ จังหวัดอ่างทอง
(เดิมอำเภอนี้เป็นที่ตั้งตัวเมืองวิเศษไชยชาญ) ปีเกิดของท่านประมาณ พ.ศ.๒๓๐๐ คือ
ปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่ออายุประมาณ ๘-๙ ขวบ
ได้ไปศึกษาเล่าเรียนที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ไม่ทราบว่าอยู่วัดอะไร
เมื่ออายุประมาณ ๑๐-๑๑ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ประจวบกับกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ พ.ศ.
๒๓๑๐ ประชาชนอพยพหนีภัยสงครามไปอยู่ตามชนบท ในกรุงศรีอยุธยาเกิดขัดสนเสบียงอาหาร
สามเณรทองอยู่จึงจำเป็นต้องเดินทางกลับบ้านเกิด คือ ตำบลไผ่จำศีล
การเดินทางในครั้งนั้นต้องเดินทางผ่านวัดภูเขาทอง อำเภอกรุงเก่า มาบ้านกุ่ม
ผ่านบ้านบางชะนีซึ่งเป็นตำบลติดกับบ้านเลน ตำบลโผงเผง ที่บ้านนี้มีวัดอยู่วัดหนึ่ง
เรียกว่า “วัดถนน” สามเณรทองอยู่ได้พักที่วัดนี้ ในขณะนั้นวัดถนนเกือบจะเป็นวัดร้าง
มีสามเณรรูปหนึ่งคอยดูแลรักษา เณรรูปนี้ได้ชวนสามเณรทองอยู่มาอยู่ด้วยกัน
แต่สามเณรทองอยู่ผัดว่าขออุปสมบทเป็นพระภิกษุก่อน ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๓๒๑ หรือ ๒๓๒๒
ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ท่านจึงได้อุปสมบทและมาอยู่วัดถนนนี้
ท่านทองอยู่นับว่าเป็นสถาปนิกชั้นเยี่ยมท่านหนึ่ง
ท่านจึงได้สร้างเจดีย์ไว้องค์หนึ่ง
ซึ่งเวลานี้นับว่าเป็นเจดีย์ที่งดงามปรากฏอยู่หน้าพระวิหารวัดถนน
ถึงกับมีผู้มาวาดรูปไปเป็นแบบก่อสร้าง ในด้านวรรณกรรม
นอกจากท่านได้แต่งร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์ทานกัณฑ์แล้ว
ยังแต่งบททำขวัญนาคไว้อย่างไพเราะอีกด้วย
๒ สำนักวัดสังข์กระจาย - กัณฑ์ชูชก
๒ สำนักวัดสังข์กระจาย - กัณฑ์ชูชก
สำนักวัดสังข์กระจายเป็นชื่อสำนักที่ท่านผู้แต่งบวชอยู่
วัดนี้อยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ฝั่งเหนือ เป็นวัดโบราณ
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนาใหม่ เพื่อพระราชทานเจ้าจอมแว่น หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า คุณเสือสนมเอก
ต่อมาพระบาทสมเด็จ
พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่ง
ส่วนท่านผู้แต่งกัณฑ์ชูชกซึ่งเรียกว่า
สำนักวัดสังข์กระจาย นี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า คือ
พระเทพมุนี (ด้วง) แต่ประวัติของพระเทพมุนี (ด้วง)
ไม่เป็นที่ทราบกันมากนัก ทราบแต่ว่าท่านเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดสังข์กระจาย
และเป็นที่ทราบว่าท่านเป็นผู้คงแก่เรียน มีความรู้ความสามารถยิ่ง
ใน พ.ศ. ๒๓๓๒ คราวเกิดอสุนีบาตตกต้องมุขพระที่นั่งอินทราภิเศกมหาปราสาท
(ปัจจุบันคือพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท) ติดเป็นเพลิงไหม้
ขึ้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระแสงของ้าวเร่งข้าราชการดับเพลิงจนสงบ
แล้วทรงปริวิตกว่าเห็นจะเป็นอัปมงคลนิมิตแก่บ้านเมือง พระราชาคณะที่เป็นปราชญ์ มีความชำนาญทั้งพุทธศาสตร์และโหราศาสคร์
ต่างได้ลงชื่อถวายชัยมงคลให้เบาพระทัยว่าไม่เป็นอัปมงคลแต่อย่างใด
หากจะเป็นความปราชัยบังเกิดแก่ศัตรูในภายหน้า
ซึ่งรายนามพระสงข์ที่ถวายพระพรครั้งนั้นมีพระเทพมุนีวัดสังข์กระจายด้วยรูปหนึ่ง นอกจากนี้
พระเทพมุนีรูปนี้ยังเคยถวายเทศน์กัณฑ์ชูชกในรัชกาลที่ ๑
ทั้งยังเคยถวายแก้ข้อกังขาปัญหาธรรมและพระราชปุจฉาในรัชกาลที่ ๑ อีกด้วย
๓ พระเทพโมลี (กลิ่น) - กัณฑ์มหาพน
ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์มหาพนนี้
สันนิษฐานว่า พระเทพโมลี
(กลิ่น) แต่งเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๕๐
เป็นสำนวนที่ได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการตรวจชำระร่ายยาว
มหาเวสสันดรชาดกในสมัยรัชกาลที่ ๕ ว่าเป็นสำนวนดีเยี่ยม ไพเราะเป็นเลิศ
หาที่ติมิได้
พระเทพโมลี เป็นนามสมณศักดิ์
นามเดิมว่า กลิ่น ประวัติของท่านไม่ทราบแน่ชัดทราบแต่เพียงว่ามีชีวิตอยู่ในสมัยรัชกาลที่
๑ เป็นภิกษุประจำสำนักวัดราชสิทธาราม(วัดพลับธนบุรี)
ได้เล่าเรียนพนะปริยัติธรรมอย่างกว้างขวางจนสอบไล่ได้ชั้นเปรียญ
ได้เป็นพระรัตนมุนีในรัชกาลที่ ๒ และเป็นพระเทฑโมลีในรัชกาลที่ ๓
ส่วนงานด้านวรรณคดี คือ แต่ง (ซ่อม) มหาชาติคำหลวง กัณฑ์ทานกัณฑ์ และแต่งร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก
กัณฑ์มหาพน
๔ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) -
กัณฑ์กุมารและกัณฑ์มัทรี
เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
เป็นบุคคลสำคัญในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีนามเดิมว่า
หน เป็นเสนาบดีจตุสดมภ์กรมท่า
เดิมเป็นหลวงสรวิชิตเคยโดยเสด็จพระราชดำเนินการพระราชสงครามในรัชกาลที่ ๑
จึงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระยาพิพัฒนโกษา
ครั้นต่อมา
ตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลังว่างลง
จึงโปรดเกล้าฯ
แต่งตั้งพระยาพิพัฒนโกษาขึ้นเป็นเจ้าพระยาคลังแทน เจ้าพระยาพระคลัง (หน) มีบุตรหลายคน แต่ไม่ได้รับราชการ บุตรชาย ๒ คน
คนหนึ่งเป็นจินตกวี และอีกคนหนี่งเป็นครูพิณพาทย์
ส่วนบุตรหญิงคนหนึ่งคือเจ้าจอมมารดานิ่ม
เป็นเจ้าจอมมารดาของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ
กระพระยาเดชาดิศร ในรัชกาลที่ ๒
เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
ได้แต่งมหาเวสสันดรที่เป็นมหาชาติกลอนเทศน์
มีลักษณะคำประพันธ์เป็นร่ายยาวที่มีคาถาบาลีนำ
แต่งไว้ทั้งหมด ๒ กัณฑ์ คือ กัณฑ์กุมารและกัณฑ์มัทรี
โดยมีจุดประสงค์การแต่งเพื่อแสดงธรรมเทศนาให้อุบาสกและอุบาสิกาฟังในช่วงเข้าพรรษา
นอกจากนี้
งานนิพนธ์ของท่านยังมีอีกหลายเรื่อง
ในสมัยกรุงธนบุรีมี ลิลิตเพชรมงกุฎ อิเหนาคำฉันท์
ส่วนในสมัยรัชกาลที่ ๑ มี โครงพยุหยาตราเพชรพวง กลอนและร่ายเรื่องสร้าง
ภูเขาทองที่วัดราชคฤห์
บทมโหรีเรื่องกากี
และท่านยังเป็นผู้อำนวยการแปลพงศาวดารจีน
เรื่องสามก๊ก
อันเลื่องชื่อและพงศาวดารมอญเรื่อง
ราชาธิราช ด้วย
ที่มาของเรื่อง
พุทธศาสนิกชนชาวไทยนับถือกันมาแต่ครั้งโบราณว่า
มหาเวสสันดรเป็นชาดกที่สำคัญกว่าชาดกเรื่องอื่น
เพราะว่าด้วยเรื่องราวที่ปรากฏบารมีของพระโพธิสัตว์อยู่โดยบริบูรณ์ทั้ง ๑๐
บารมีและพุทธศาสนิกชนชาวไทยก็นิยมฟังเทศน์มหาชาติกันตลอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งอาจจะเป็นด้วยเหตุผลสำคัญ ๓ ประการคือ
๑.
เชื่อกันว่ามหาเวสสันดรชาดกเป็นพระพุทธวจนะซึ่งพระพุทธเจ้าได้เทศนาแก่พระภิกษุสงฆ์
ณ นิโครธารามมหาวิหาร และการได้สดับพระพุทธวจนะทั้งหลายย่อมเป็นสิริมงคลแก่ตน
๒. เชื่อในพระมาลัยสูตรว่า
พระศรีอริยเมตไตรยเทพบุตรผู้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าต่อจากพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้
ได้มีเทวโองการสั่งพระมาลัยเถระผู้ที่มีบุญญาภินิหารอย่างยิ่งว่าผู้ใดมีความปรารถนาใคร่พบพระศีรอาริยเมตไตรย
(ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสมัยที่มีแต่ความสุขและความสมบูรณ์อย่างที่สุด)
ให้บุคคลผู้นั้นฟังเทศน์มหาเวสสันดรชาดกอันประกอบด้วยพระคาภาถึงพันคาถาให้จบภายในวันเดียว
ด้วยความตั้งใจฟังอย่างยิ่ง และด้วยเหตุที่เชื่อว่า
มทหาเวสสันดรชาดกจะเสื่อมและสูญหายไปก่อนชาดกอื่นๆ
จึงควรฟังมหาเวสสันดรชาดกกันอยู่เนืองๆ เพื่อมิให้เสื่อมสูญไป
๓.การเทศน์มหาชาติ
ผู้เทศนาจะเทศน์เป็นทำนองไพเราะ ใส่อารมณ์ในน้ำเสียง ซึ่งมีทั้งบทโสก สนุกสนาน ฯลฯ
จึงบทำให้เกิดปีติโสมนัสในการฟังเทศน์มหาชาติ
เรื่องมหาชาตินี้ มีที่มาจากเหตุการณ์ครั้งที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่นิโครธารามมหาวิหาร
ครั้งนั้นพระเจ้าสุทโธทนะและพระประยูรญาติศากยวงศ์พากันมาเฝ้า
พระญาติชั้นผู้ใหญ่ที่ทรงพระเจริญวัยกว่าทรงละลายพระทัยไม่ถวายบังคมพระบรมศาสดา
ด้วยทรงเห็นว่ามีพระชนมายุน้อยกว่า พระพุทธองค์ทรงมีพระประสงค์จะทรมานให้พระประยูรญาติละพยศลดทิฐิมานะ
จึงทรงกระทำปาฏิหาร์ลอยขึ้นสู่เบื้องบนเหนือพระเศียรเหล่าพระประยูรญาติ
พระเจ้าสุทโธทนะและพระประยูรญาติทอดพระเนตรเห็นเป็นอัศจรรย์ก็ทรงเลื่อมใส
ยกพระหัตย์ขึ้นถวายบังคม ทันใดก็บังเกิดฝนโบกขรพรรษ ขึ้นในบริเวณที่ประชุมกัน พระเจ้าสุทโธนะและพระประยูรญาติก็โสมนัสชื่นชมพระบารมีเป็นอันมาก
ต่างถวายความเคารพ ครั้นเมื่อเสด็จกลับแล้ว
พระสงฆ์สาวกก็จับกลุ่มกันสนทนาปรารภถึงฝนโบกขรพรรษซึ่งตกลงมาเมื่อครู่
เห็นเป็นอัศจรรย์ ด้วยไม่เคยเห็นไม่เคยได้ยินมาก่อน
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่ามิใช่เพิ่งจะมีแต่ในครั้งนี้ เคยมีมาแล้วในกาลก่อน
พระสงฆ์สาวกจึงทูลอาราธนาพระพุทธองค์ให้ทรงเล่าเรื่องให้ฟัง
ซึ่งพระพุทธองค์ก็ตรัสเล่าเรื่องเวสสันดรชาดกประทาน
จุดมุ่งหมายในการแต่ง
เพื่อใช้เทศน์ให้ประชาชนฟัง
ลักษณะการแต่ง
มหาชาติหรือมหาเวสสันดรชาดกสำนวนภาคกลางนิยมแต่งด้วยร่ายยาว เพราะร่ายยาวเหมาะแก่การใช้แหล่เทศน์ ผู้เทศน์จะออกเสียงได้ไพเราะและเปลี่ยนทำนองเทศน์ได้หลายอย่าง
ร่ายยาวเป็นการเรียบเรียงถ้อยคำให้คล้องจองกันเป็นวรรคๆ ในวรรคหนึ่งๆ
จะมีคำตั้งแต่ ๖ คำขึ้นไป
จนถึงประมาณ ๑๕ คำ บังคับเฉพาะสัมผัสระหว่างวรรค คือ
คำสุดท้ายของวรรคหน้าจะส่งสัมผัสไปยังวรรคหลัง ซึ่งรับสัมผัสได้แทบทุกคำ ยกเว้นคำที่อยู่ท้ายวรรค เป็นเช่นนี้ไปจนจบ แต่ละบทจะยาวเท่าใดก็ได้ แต่มักไม่ต่ำกว่า ๕ วรรค
ร่ายยาวมหาเวสสันดร จะยกคาถาบาลีนำก่อน แล้วจึงแต่งร่ายยาวตาม ดังตัวอย่าง
“ ...สา อมิตฺตตาปนา
ส่วนว่านางอมิตตดานั้นเป็นลูกเหล่าตระกูลไม่เสียชาติ ไม่คิดว่าตัวเป็นสาวได้ผัวแก่แล้วก็เป็นเมียทาส คิดว่าทุกข์ของพ่อแม่กรรมแล้วก็ตามกรรม สมฺมา
ปฏิชคฺคิ เป็นต้นว่าหาหุงต้มตักตำทุกค่ำเช้าไม่ขวยเขินละอายเพื่อนเวลาเช้าเจ้าก็ทำเวลาค่ำเจ้าก็มิให้เตือน
ทั้งการเรือนเจ้าก็มิให้ว่า
ทั้งฟืนเจ้าก็หักทั้งผักเจ้าก็หา
เฝ้าปรนนิบัติเฒ่าชราทุกเวลากาลนั้นแล...”
เนื้อเรื่องย่อ
ปฐมเหตุ
หลังจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์
ทำให้พระประยูรญาติละทิฐิยอมถวายบังคมก็บังเกิดฝนโบกขรพรรษพระภิกษุทั้งหลายจึงได้ทูลถามพระพุทธเจ้า
พระพุทธองค์
ตรัสเล่าว่า ฝนชนิดนี้เคยตกมาแล้วในอดีต พระองค์จึงทรงแสดงธรรมเรื่อง มหาเวสสันดรชาดกหรือเรื่องมหาชาติ ทั้ง ๑๓ กัณฑ์
ตามลำดับ ดังนี้ กัณฑ์ทศพร
กัณฑ์หิมพานต์ กัณฑ์ทานกัณฑ์
กัณฑ์วนปเวสน์ กัณฑ์ชูชก กัณฑ์จุลพน
กัณฑ์มหาพน กัณฑ์กุมาร กัณฑ์มัทรี
กัณฑ์สักกบรรพ กัณฑ์มหาราช
กัณฑ์ฉกษัตริย์ และกัณฑ์นครกัณฑ์
กัณฑ์ที่ ๑ ทศพร มี ๑๙ พระคาถา
กัณฑ์ที่ ๑ ทศพร มี ๑๙ พระคาถา
กล่าวถึงปฐมเหตุที่พระพุทธองค์ทรงเทศนาเล่าเรื่องมหาเวสสันดรชาดกแก่ภิกษุทั้งหลาย
ณ นิโครธารามมหาวิหาร
โดยเริ่มเรื่องจากการกำเนิดพระนางผุสดีผู้ถวายแก่นจันทน์บดแด่พระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง และตั้งจิตปรารถนาว่า ขอให้ได้เป็นพระพุทธมารดาในอนาคต
เมื่อได้บังเกิดในสวรรค์ได้เป็นมเหสีของพระอินทร์
ในกัณฑ์นี้กล่าวถึงพระนางผุสดีจะต้องจุติจากสวรรค์ พระอินทร์จึงประทานพร ๑๐
ประการให้พระนางผุสดี ได้แก่ ๑.ขอให้เกิดในเมืองมัทราช
แคว้นสีพี ๒.
ขอให้มีดวงเนตรคมงามและดำขลับดั่งลูกเนื้อทราย ๓.
ขอให้คิ้วคมขำดั่งสร้อยคอนกยูง
๔. ขอให้ได้นาม “ผุสดี” ดังภพเดิม ๕.
ขอให้มีพระโอรสเกริกเกียรติที่สุดในชมพูทวีป ๖. ขอให้พระครรภ์งาม ไม่ป่องนูนดั่งสตรีสามัญ ๗. ขอให้พระถันเปล่งปลั่งงดงามไม่ยานคล้อยลง
๘.ขอให้เส้นพระเกศาดำขลับตลอดชาติ ๙.
ขอให้ผิวพรรณละเอียดบริสุทธิ์ดุจทองคำธรรมชาติ
๑๐. ขอให้ได้ปลดปล่อยนักโทษที่ต้องอาญาประหารได้
กัณฑ์ที่ ๒ หิมพานต์ มี ๑๓๔ พระคาถา
กล่าวถึงพระนางผุสดีซึ่งจุติจากสวรรค์ลงมาประสูติเป็นพระธิดากษัตริย์มัทราช
และได้เป็นพระมเหสีพระเจ้ากรุงสญชัยแห่งแคว้นสีพี
พระนางผุสดีได้ประสูติพระเวสสันดรในขณะประพาสชมพระนคร และขณะนั้นนางช้างฉัททันต์ก็ได้นำลูกช้างเผือกมาไว้ในโรงช้างต้น ต่อมาลูกช้างเผือกตัวนั้นได้ชื่อว่า “ปัจจัยนาเคนทร์” มีคุณวิเศษ คือ
ทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล พระเวสสันดรใฝ่ใจในการบริจาคทาน
เมื่อได้เสวยราชสมบัติละอภิเษกกับพระนางมัทรีแล้ว ได้ตั้งโรงทานถึง ๖ แห่ง
และเมื่อพระราชทานช้างปัจจัยนาเคนทร์ให้กับชาวเมืองกลิงคราษฎร์ ซึ่งเป็นเมืองที่แห้งแล้ง ข้าวยากหมากแพงมาหลายปี
ทำให้ชาวเมืองสีพีโกรธและเรียกร้องให้พระเจ้ากรุงสญชัยทรงลงโทษพระเวสสันดรพระเจ้ากรุงสญชัยจึงทรงเนรเทศพระเวสสันดรไปจากเมือง
กัณฑ์ที่ ๓ ทานกัณฑ์ มี ๒๐๙ พระคาถา
เมื่อพระนางผุสดีทรงทราบว่าพระเวสสันดรถูกเนรเทศ พระนางได้ทูลขอโทษ แต่พระเจ้ากรุงสญชัยมิได้ตรัสตอบ
พระนางจึงเสด็จไปที่พระตำหนักพระเวสสันดรและทรงรำพันต่างๆนานา
รุ่งขึ้นพระเวสสันดรทรงบำเพ็ญสัตตสดกมหาทาน
แล้วจึงพาพระนางมัทรีและสองกุมารเข้าไปทูลลาพระเจ้ากรุงสญชัย พระเจ้ากรุงสญชัยทรงห้ามพระนางมัทรีมิให้ติดตามไปด้วย เพราะจะได้รับความลำบากในป่า
แต่พระนางมัทรีก็ทูลถึงเหตุผลอันเหมาะสมที่พระนางจะต้องตามเสด็จพระเวสสันดรในครั้งนี้ พระเจ้ากรุงสญชัยจึงขอสองกุมารให้อยู่กับพระองค์ แต่พระนางมัทรีก็ไม่ยินยอม
จากนั้นทั้งสี่พระองค์ก็ได้เสด็จไปทูลลาพระนางผุสดี
รุ่งขึ้นพระเวสสันดรให้พนักงานเบิกแก้วแหวนเงินทองบรรทุกรถเสด็จออกจากเมือง
ทรงโปรยแก้วแหวนเงินทองเหล่านั้นเป็นทานแก่ยาจกโดยทั่วหน้า แล้วจึงตรัสสั่งให้เสนาอำมาตย์กลับคืนมายังเมือง ส่วนพระองค์พร้อมทั้ง
พระนางมัทรีและกัณหาชาลีก็มุ่งสู่ป่า มีพราหมณ์มาทูลขอรถทรงและม้าทรง พระองค์ก็ทรงบริจาคให้จนหมดสิ้น
พระเวสสันดรจึงอุ้มพระชาลีและพระนางมัทรีอุ้มพระกัณหาเสด็จพระดำเนินต่อไปด้วยพระบาท
กัณฑ์ที่ ๔ วนปเวสน์ มี ๕๗ พระคาถา
กล่าวถึงการเดินทางของพระเวสสันดรไปยังเขาวงกต ซึ่งมีพระนางมัทรีและชาลีกัณหาอันเป็นพระโอรสและพระธิดาตามเสด็จด้วย ได้พบกับเจ้าเมืองเจตราษฎร์ เจ้าเมืองเจตราษฎร์
มอบให้พรานเจตบุตรเป็นผู้ดูแลมิให้ใครเดินทางไปรบกวนพระเวสสันดรที่เขาวงกต
กัณฑ์ที่ ๕ ชูชก มี ๗๙ พระคาถา
กล่าวถึงพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่า
ชูชก
เป็นคนเข็ญใจไร้ญาติเที่ยวเร่ร่อนขอทาน
จนกระทั่งถึงแก่ชราจึงรวบรวมเงินได้ถึงร้อนกษาปณ์ เห็นว่าถ้าเก็บไว้กับตัวก็จะเป็นอันตราย
จึงนำไปฝากกับเพื่อนคนหนึ่งแล้วก็เที่ยวขอทานต่อไป เวลาล่วงเลยมาหลายปี เพื่อนผู้รับฝากเงินไว้เห็นว่าชูชกไม่กลับมาคงจะล้มตายไปแล้ว
จึงได้นำเงินที่ชูชกฝากไว้ไปจับจ่ายจนหมดสิ้น
เมื่อชูชกกลับมาเพื่อนคนนั้นไม่มีเงินให้จึงต้องยกลูกสาวชื่อนางอมิตตดาให้เป็นภรรยาชูชก
นางอมิตตดาปรนนิบัติสามีตามหน้าที่ของภรรยาที่ดีทุกอย่าง จนทำให้พราหมณ์อื่นๆ
ในหมู่บ้านนั้นตบตีดุด่าภรรยาของตนให้ประพฤติตามอย่างนางอมิตตดา
บรรดาภรรยาทั้งหลายต่างก็โกรธเคืองหาว่านางอมิตตดาเป็นต้นเหตุ จึงพากันไปเยาะเย้ยถากถางนางอมิตตดาขณะที่นางลงไปตักน้ำที่ท่าน้ำ ทำให้นางอมิตตดารู้สึกอับอาย จึงกลับมาบอกชูชกว่าต่อไปนี้นางจะไม่ทำงานอะไรอีก ชูชกจะต้องไปหาข้าทาสมาให้นาง มิฉะนั้นนางจะไม่อยู่ด้วย
เทพเจ้าได้เข้าดลใจนางให้แนะชูชกไปขอพระกัณหาชาลีมาเป็นทาส ชูชกจำใจต้องไป ก่อนออกเดินทางชูชกก็จัดการซ่อมแซมบ้านให้
กัณฑ์ที่ ๖ จุลพน มี ๓๕ พระคาถา
กัณฑ์ที่ ๖ จุลพน มี ๓๕ พระคาถา
พรานเจตบุตรหลงกลชูชก ที่ได้ชูกลักพริกขิงให้พรานดู
อ้าวว่าเป็นพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงสญชัยจะนำไปถวายพระเวสสันดร
พรานเจตบุตรจึงต้อนรับและเลี้ยงดูชูชกเป็นอย่างดีและได้พาไปยังต้นทางที่จะไปอาศรมฤๅษี
กัณฑ์ที่ ๗ มหาพน มี ๘0 พระคาถา
ชูชกเดินทางไปถึงอาศรมของพระอัจจุตฤๅษี แล้วหลอกลวงพระฤๅษีว่า
ตนเคยคบหาสมาคมกับ พระเวสสันดรมาก่อน
เมื่อพระองค์จากมานานจึงใคร่จะเยี่ยมเยียน
พระฤๅษีหลงเชื่อจึงให้ชูชกพักแรมที่อาศรมหนึ่งคืน
รุ่งขึ้นก็อธิบายหนทางที่จะเดินทางว่า
จะต้องผ่านภูเขาคันธมาทน์และสระมุจลินท์ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับพระอาศรมของพระเวสสันดร
กัณฑ์ที่ ๘ กุมาร มี ๑๐๑ พระคาถา
ชูชกเข้าไปขอสองกุมาร พระเวสสันดรพระราชทานให้
สองกุมารจึงหนีไปอยู่ในสระบัว
พระเวสสันดรตามไปพูดจาให้สองกุมารเข้าใจ สองกุมารจึงขึ้นจากสระบัว
ชูชกพาสองกุมารเดินทางโดยรีบเร่งเกรงว่านางมัทรีกลับจากหาผลไม้ก่อนจะเสียการ
กัณฑ์ที่ ๙ มัทรี มี ๙๐ พระคาถา
เมื่อชูชกพาสองกุมารออกไปพ้นพระอาศรมแล้ว
เทพทั้งปวงก็วิตกว่า
ถ้านางมัทรีกลับมาแต่ยังวันก็จะต้องรีบติดตามหาสองกุมารเป็นแน่
พระอินทร์จึงมีเทวบัญชาให้เทพสามองค์จำแลงเป็นเสือและราชสีห์ไปขวางทางเดินของพระนางมัทรีไว้
ส่วนพระนางมัทรีรู้สึกเป็นทุกข์ เก็บผลไม้ตามแต่จะได้แล้วก็รีบกลับพระอาศรม
มาพบสัตว์ทั้งสามขวางหน้าอยู่ก็วิงวอนขอทาง จนพลบค่ำสัตว์ทั้งสามจึงหลีกทางให้
เมื่อมาถึงพระอาศรม พระนางมองหาสองกุมาร แต่ไม่พบ จึงไปถามพระเวสสันดร
พระเวสสันดรเกรงว่า ถ้าบอกไปพระนางมัทรีจะโศกเศร้ามากยิ่งขึ้นไปอีก จึงแสร้งงพูดแสดงความหึงหวงขึ้นทำนองระแวงที่นางกลับมาจนมืดค่ำพระนางมัทรีเจ็บใจก็คลายความโศกลง
เที่ยวตาหาสองกุมาร แต่ไม่พบแล้วสลบลงด้วยความโศกและสิ้นแรง
เมื่อพระเวสสันดรแก้ไขจนพระนางมัทรีฟื้น
พระเวสสันดรจึงเล่าให้ฟังว่าได้บริจาคบุตรเป็นทานแก่พราหมณ์เฒ่าไปแล้ว พระนางมัทรีมิได้เศร้าโศกแต่กลับชื่นชมกับมหาบริจาคทานของพระเวสสันดรด้วยศรัทธาอันเปี่ยมล้น
กัณฑ์ที่ ๑๐ สักกบรรพ มี ๔๓
พระคาถา
พระอินทร์เกรงว่าหากมีใครมาขอนางมัทรีจากพระเวสสันดร
ก็จะทำให้พระเวสสันดรบำเพ็ญภาวนาไม่สะดวก ด้วยไม่มีผู้คอยปรนนิบัติ
ดังนั้นพระอินทร์จึงแปลงกายเป็นพราหมณ์เฒ่าลงมาขอและได้ให้พรแปดประการแก่พระเวสสันดร
รวมทั้งฝากฝังนางมัทรีไว้ให้อยู่ปรนนิบัติพระเวสสันดรด้วย
กัณฑ์ที่ ๑๑ มหาราช มี ๖๙ พระคาถา
เมื่อเดินทางผ่านป่าใหญ่
ชูชกผูกสองกุมารไว้ที่โคนต้นไม้ ส่วนตนเองปีนขึ้นไปนอนบนต้นไม้ เหล่าเทพเทวดาจึงแปลงร่างลงมาปกป้องสองกุมารให้เดินทางถึงกรุงสีพีโดยปลอดภัย
ขณะเดียวกันพระเจ้ากรุงสีพีเกิดนิมิตฝัน
ซึ่งตามคำทำนายนั้นนำมายังความปิติปราโมทย์แก่พระองค์ยิ่งนัก
เมื่อเสด็จลงหน้าลานหลวงตอนรุ่งเช้า
พระเจ้ากรุงสีพีก็ทอดพระเนตรเห็นชูชกและกุมารทั้งสองพระองค์ ครั้นทรงทราบความจริง
พระองค์จึงทรงประทานค่าไถ่คืน
หลังจากนั้นชูชกก็ถึงแก่ความตายเพราะกินอาหารมากเกินไป
แล้วพระชาลีก็ทูลพระเจ้ากรุงสีพีเพื่อขอให้ไปรับพระบิดาและพระมารดาให้นิวัติคืนพระนคร
ในขณะเดียวกันเจ้านครกลิงคราษฎร์ได้คืนช้างปัจจัยนาค
กัณฑ์ที่ ๑๒ ฉกษัตริย์ มี ๓๖ พระคาถา
พระเจ้ากรุงสญชัยยกทัพไปรับพระเวสสันดร
โดยใช้เวลา ๑ เดือน กับ ๒๓ วัน จึงเดินทางถึงเขาวงกต
เสียงโห่ร้องของทหารทั้งสี่เหล่าทำให้พระเวสสันดรทรงคิดว่าเป็นข้าศึกมาโจมตีนครสีพีจึงชานพระนางมัทรีขึ้นไปแอบดูที่ยอดเขา
พระนางมัทรีทรงมองเห็นกองทัพพระราชบิดาจึงได้ตรัสทูลพระเวสสันดร
และเมื่อทั้งหกกษัตริย์ได้พบกัน ทรงกันแสงสุดประมาณ
รวมทั้งทหารเหล่าทัพทำให้ป่าใหญ่สนั่นครั่นครืน
พระอินทร์จึงทรงบันดาลให้ฝนโบกขรพรรษาตกลงมาประพรมหกกษัตริย์ให้หายเศร้าโศก
กษัตริย์ทั้งหกยกพลกลับคืนพระนคร
หลังจากพระเจ้ากรุงสญชัยตรัสสารภาพผิด
เมื่อเสด็จถึงนครสีพีจึงรับสั่งให้ชาวเมืองปล่อยสัตว์ที่กักขัง
ครั้นยามราตรีพระเวสสันดรทรงปริวิตกว่า รุ่งเช้าประชาชนจะแตกตื่นมารับบริจาคทาน
พระองค์จะประทานสิ่งใดให้แก่ประชาชน ท้าวโกสีย์ได้ทราบจึงบันดาลให้มีฝนแก้ว ๗
ประการ ตกลงมาในนครสีพีสูงขึ้นถึงหน้าแข้ง
พระเวสสันดรจึงทรงประกาศให้ประชาชนมาขนเอาไปตามปรารถนาที่เหลือให้ขนเข้าพระคลังหลวง
ในกาลต่อมาพระเวสสันดรเถลิงราชสมบัติปกคริงนครสีพีโดยทศพธราชธรรม
บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขตลอดพระชนมายุ
ข้อคิดที่ได้จากเรื่อง
-มีจุดมุ่งหมายคือการสอนให้มนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง
-ได้รู้ซึ่งกฏแห่งกรรม
-เป็นการเรียนรู้ทั้งทางด้านพุทธศาสนาและภาษาไทยไปพร้อมๆ
กัน
วิเคราะห์-วิจารณ์
บทวิเคราะห์
๑ คุณค่าด้านวรรณศิลป์
เนื่องจากเรื่องที่นำมาเรียนนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับมหาชาติโดยรวม
โดยมีการหยิบยกมาเป็นตัวอย่างจากร่ายยาวมหาเวสสันดรชากดทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ
ภาคอีสาน และภาคใต้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า มหาชาติเป็นที่นิยมในทุกภาคทั่วประเทศไทย
และด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงมีการแต่งมหาชาติสำนวนต่างๆ ขึ้นอย่างมหาศาล
มหาชาติแต่ละสำนวนมีความแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น
สำหรับภาคกลางถือว่าร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกที่กวีทั้ง ๖ ท่านได้แต่งไว้นั้น
เยี่ยมยอดในเรื่องภาษาวรรณศิลป์ เช่น ตอนพระอัจจุตฤๅษีบอกเส้นทางไปเขาวงกตแก่ชูชก
ซึ่งได้พรรณนาโดยใช้คำอลังการและสัมผัสอักษรแพรวพราว ดังตัวอย่างเช่น
''......เอส เสโล แลถนัดในเบื้องหน้าโน้นก็เขาใหญ่ยอดเยี่ยมโพยมอย่างพยับเมฆมีพรรณนาเขียวขาวดำแดงดูดิเรกดั่งรายรัตนนพมณีแนมน่าใคร่ชม ครั้นแสงพระสุริยะส่องระดมก็ดูเด่นดั่งดวงดาววาวแวววะวาบๆ ที่เวิ้งวุ้ง วิจิตรจำรัสจำรูญรุ่งเป็นสีรุ้งพุ่งพ้นเพียงคัคนัมพรพื้นนภากาศ บ้างก็ก่อเกิดก้อนประหลาดศิลาลายแลละเลื่อมๆ ที่งอกง้ำเป็นแง่เงื้อมก็ชะงุ้มชะโงกชะง่อนผา ที่ผุดเผินเป็นแผ่นภูตะเพิงพัก บางแห่งเล่าก็เหี้ยนหักเห็นเป็นรอยร้าวรานระคายควรจะพิศวง ด้วยธารอุทกที่ตกลงเป็นหยาดหยัดหยดย้อยเย็นเป็นเหน็บหนาวในท้องถ้ำที่สถิตไกรสรราชสถาน บังเกิดแก้วเก้าประการกาญจนะประกอบกัน ตลอดโล่งโปร่งปล่อง เป็นช่องชั้นช่อวิเชียรฉายโชติช่วงชัชวาลสว่างตา แสนสนุกในห้องเหมคูหาทุกแห่งหนรโหฐาร..."
(กัณฑ์มหาพน : พระเทพโมลี(กลิ่น))
|
นอกจากนี้มหาชาติบางสำนวนยังมีการใช้กลบทหลายชนิด
ซึ่งเพิ่มคุณค่าทางวรรณศิลป์มากยิ่งขึ้น เช่น กลบทกบเต้นสลักเพชร ในกัณฑ์มหาราช
สำนวนพระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เช่น
"... แล้วเร่งรัดจัดสรรพวกพลคชาชาญ อันเกิดแต่มาตังคประเทศสถาน ประมาณหมื่นสี่พัน สรรแต่หาญสารตัวเหี้ยม เทียมช้างมารทานช้างหมื่น ฟื้นโถมสึกฝึกทนศร ร่อนงาส่าย ร่ายเงยเศียร เรียนเชิงสู้ รู้ชนสาร ร่านบ้าแทง แรงบ่ถอย ร้อยคชหนี รี่ขึ้นหน้า ข้าศึกยลขนสยอง ร้องบันเทิง เริงบุกทัพ สรรพอลังการสารอลงกต บทจรคลาดบาทจรคลา ดาพยุหยืนดื่น
พยุหยุทธ์ ดุจพสุธาพังดั่งพสาพกยกคชผาย ย้ายคชพล คนตัวหมอ ขอติดมือ ถือหัตถ์ง่าท่าเห็นงามตามทำนอง ต้องธรรมเนียม เตรียมทุกหมวด ตรวจทุกหมู่ ..."
|
กลบทนาคบริพันธ์
เช่น
"...แล้วเร่งรัดจัดสรรพลรถาหมื่นสี่พัน พื้นพิจิตรรังสรรค์สุวรรณรัตน์ สุวรรณรถจำรัสอร่ามเรือง อร่ามรุ่งบันเทืองอัมพรเพริศ อัมพรพรายธงชายเฉิดเฉลิมงอน เฉลิมงามสงครามสยอนไม่ต่อติด ไม่ต่อต้านทานฤทธิ์เข้ารุกราญ เข้ารุกรับยับแตกฉานพังประลาต พ่ายประลัยลงดื่นดาษพสุธาธาร...."
|
นอกจากนี้
ผู้อ่านยังได้รับรสไพเราะจากการใช้ถ้อยคำที่สละสลวย ประณีต ของมหาชาติภาคอื่นๆ
ด้วย เช่น
อยํ มคฺโค อะกุถชีโน ไปถึงบรรพตา คีรีบรรพต ปรากฏเห็นมา สนานน้ำถ้ำลา เหวห้วยตรอกธาร พระสุรีย์แสงส่อง แสงรายกระจายต้อง ศิลาหน้าผาร ระยับจับสี มณีประพาฬ ดังแสงสุรีย์การ ประทุมรุกโข เปลวปลาบปะลิงดัง ระยับจับทั้ง บูรบรรพโต ประพริบพร้อยพราย จับสายเสโส ชะอ่ำรุกโข ชอืนติณณา (มหาชาติภาคใต้) |
๒ คุณค่าด้านเนื้อหา
ข้อความรู้ที่ได้จากการอ่าน
มีดังนี้
๑.
รู้เนื้อเรื่องโดยย่อของมหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์ เป็นพื้นฐานในการศึกษาวรรณคดีเรื่อง
มหาชาติหรือมหาเวสสันดรสำนวนต่างๆ ต่อไป
๒.
รู้จักลักษณะของมหาชาติสำนวนต่างๆ ซึ่งมีลักษณะเด่นแตกต่างกันออกไป
ทั้งมหาชาติภาคกลาง มหาชาติภาคเหนือ มหาชาติภาคอีสาน และมหาชาติภาคใต้
๓.
รู้ลักษณะเฉพาะของสังคมไทยในท้องถิ่นต่างๆ จากมหาชาติสำนวนท้องถิ่น
๓ คุณค่าด้านปัญญาและความคิด
๑.
การทำบุญจะให้ทำเสร็จสมประสงค์ต้องอธิษฐานจิต ตั้งเป้าหมายชีวิตที่ตนปรารถนาไว้
แต่ความปรารถนาจะสำเร็จดังตั้งใจหรือไม่ ผู้นั้นต้องมีศีลบริบูรณ์ กล่าวคือ
-
ต้องกระทำความดี
-
ต้องรักษาความดีนั้นไว้
-
หมั่นเพิ่มพูนความดีให้มากยิ่งขึ้น
๒.
การทำความดีต้องทำเรื่อยไป ทุกชาติทุกภพต่อเนื่องไม่ขาดสาย
๓.
ในเรื่องมหาชาติได้แสดงตัวอย่างของพระชาติที่ยิ่งใหญ่ด้วยทศบารมี
เห็นตัวอย่างการบำเพ็ญบารมีอันยากยิ่งที่มนุษย์ปุถุชนธรรมดาจะทำได้
๔.
คุณค่าของมหาชาติเป็นเรื่องที่ประจักษ์ชัดในศรัทธาของพุทธศาสนิกชนมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัยดังที่ปรากฎในจารึกนครชุม
๕. แสดงให้เห็นถึงความเชื่อและความศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่อยู่คู่กับสังคมไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
๖. สะท้อนให้เห็นถึงประเพณีทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญเกี่ยวกับการทำบุญฟังเทศน์ของพุทธศาสนิกชน เช่น
อานิสงส์การฟังเทศน์มหาชาติ การตั้งใจฟังเทศน์มหาชาติให้จบครบบริบูรณ์ภายในวันเดียวทั้ง 13 กัณฑ์ เป็นเหตุให้สำเร็จความปรารถนาทุกประการดังนี้
-
เมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้ว จะมีโอกาสได้พบพระพุทธเจ้าพระนามว่า ศรีอริยเมตไตรย
-
เมื่อดับขันธ์จะได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ และเสวยทิพยสมบัติมโหฬาร
-
เมื่อตายไปแล้วจะไม่ตกนรก
-
เมื่อถึงยุคพระศรีอริยเมตไตรย จะได้จุติไปเกิดเป็นมนุษย์
-
เมื่อได้ฟังธรรมต่อหน้าพระพักตร์ของพระพุทธองค์
จะได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา
๗.
มหาชาติในแต่ละท้องถิ่นมักจะแสดงให้เห็นถึงลักษณะวิถีชีวิต
ความเป็นอยู่และความเชื่อได้อย่างชัดเจน
มหาชาติหรือมหาเวสสันดรชาดก
เป็นวรรณคดีทางพระพุทธศาสนาที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ด้วยเป็นแนวทางในการบำเพ็ญตนอย่างผู้เสียสละ เพื่อความสงบสุขของสังคม
วรรณคดีเรื่องนี้ยังมีคุณค่าทั้งด้านเนื้อหาและด้านวรรณศิลป์เพราะแต่ละสำนวนเกิดจากความเชื่อและความศรัทธาในพระพุทธศาสนา
และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสำคัญของคนไทยในแต่ละท้องถิ่นที่ควรอนุรักษ์และสืบทอดต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น